นางสาวสิริพร ทิวะสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล และชุมชนสัมพันธ์
________นางสาวสิริพร ทิวะสิงห์ กล่าวว่า “สำนักหอสมุดเป็นหน่วยงานสนับสนุนวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมุ่งเน้นการเป็น Learning Center for all ที่สนับสนุน Digital transformation และสังคมแห่งการเรียนรู้ ความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นความรู้แขนงหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจมิติทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของประเทศ เป็นรากฐานในการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ “การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมเรื่อง ไหมมัดหมี่ไทอีสาน จากภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่สากล (The Silk Story: Wisdom, Art & Creative economy from E-Saan Thai Silk) เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสัญญลักษณ์ของจังหวัด ให้ประชาชนได้เรียนรู้ผ้าไหมในฐานะขอนแก่นเป็นมหานครแห่งผ้ามัดหมี่โลก”
________“โดยจัดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับผ้าไหม ในรูปแบบอภิปรายออนไลน์ จำนวน 3 Ep. ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2565 และระหว่างวันที่ 20-31 กรกฎาคม 2565 ได้มีการจัดนิทรรศการมีชีวิต เรื่อง “ผ้าไหมไทอีสาน : ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยจากไหมดั้งเดิม” จำนวน 10 ชุด และการเดินแฟชั่นโชว์จำนวน 2 ชุด ณ สำนักหอสมุด โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการให้คำปรึกษาในการกำหนดกิจกรรม การประสานงานวิทยากร การดำเนินการเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย การติดต่อการแสดงนิทรรศการจากศิษย์เก่า และนางแบบในการแสดงแฟชั่นโชว์ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้รับรู้ถึงความสวยงามของผ้ามัดหมี่และการนำมาใช้งานจริง นำภูมิปัญญาในท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดโอกาสในการเรียนรู้ และสนับสนุนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป”
รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด
________รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ กล่าวในพิธีเปิดว่า “นิทรรศการมีชีวิต “ผ้าไหมไทอีสาน : ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยจากไหมดั้งเดิม” ในวันนี้ กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ“การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมเรื่อง ไหมมัดหมี่ไทอีสาน จากภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่สากล (The Silk Story: Wisdom, Art & Creative economy from E-Saan Thai Silk) ที่เป็นการอภิปรายออนไลน์ กิจกรรมทั้งสองส่วนนี้มีความสอดคล้องกันที่ทำให้ผู้สนใจได้รับความรู้เกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นภูมิปัญญาประจำท้องถิ่นและเชื่อมต่อไปยังความร่วมสมัย “ภูมิปัญญาเป็นรากฐานในการพัฒนาสู่สากล” โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยในด้านรักษ์วัฒนธรรมไทยและมีสุนทรียะ รวมถึงการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) ที่ผู้สนใจสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมโดยไม่มีกำแพงกั้น ไม่จำกัดเฉพาะอาจารย์ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเท่านั้น สามารถสร้างความยั่งยืนในเป้าหมายที่ 4 การพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนได้ และยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเมืองขอนแก่นที่การจัดงานไหมเป็นงานประจำปีมายาวนาน จนได้รับการขนานนามว่า นครขอนแก่นนครแห่งมัดหมี่โลก”
________กิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการอภิปรายออนไลน์ ในหัวข้อ “ชวนฟัง นั่งเว่าสาวรังไหม วิถีช่างทอที่พอเพียง” เมื่อวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00-16.00 น. วิทยากร โดย คุณสุภาณี ภูแล่นกี่ ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวฝาย อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ช่างทอผ้าไหมมัดหมี่ดั้งเดิม ของอำเภอชนบท ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย คุณทองเลิศ สอนจันทร์ ช่างทอผู้ชำนาญไหมอีรี่ จ.ขอนแก่น ประธานกลุ่มทอผ้า บ.หนองหญ้าปล้อง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น. และ อ.ดร.ภาคินี เปล่งดีสกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์
________อภิปรายออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM ในหัวข้อ “เส้นทางสายไหม สู่มาตรฐานแฟชั่นสากล” วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00-16.00 น. วิทยากร โดย ผศ.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประธานศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (FTCDC) อ.ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ แฟชั่นและสิ่งทอ และ อ.ดร.ภาคินี เปล่งดีสกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์
________การอภิปรายออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM ในหัวข้อ “ไหมในใจลูกค้า Original ทรงคุณค่า หรือ Modern Design สู่สากล” วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00-16.00 น. วิทยากร โดย คุณนิดดา ภูแล่นกี่ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เจ้าของแบรนด์ Nitda ต.บ้านหัวฝาย อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ช่างทอผ้าไหมมัดหมี่ลายทันสมัย และ อ.ดร.ภาคินี เปล่งดีสกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์
นอกจากนิทรรศการมีชีวิต เรื่อง “ผ้าไหมไทอีสาน : ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยจากไหมดั้งเดิม” แล้ว สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังจัดฉายวิดิทัศน์แสดงประวัติ ผลงาน และอัจฉริยภาพของสุดยอดศิลปินอิสานที่ได้รับเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์(ศิลปะงานผ้า) จำนวน 4 ท่าน ซึ่ง ประกอบด้วย คุณพยอม สีนะวัฒน์ (พ.ศ. 2529) คุณคำสอน สระทอง (พ.ศ. 2559) คุณคำปุน ศรีใส (พ.ศ. 2561) และ คุณมีชัย แต้สุจริยา(พ.ศ. 2564) ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนยุคใหม่มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ โดยจะจัดแสดงไปตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง 1301 ชั้น 3 อาคาร 1 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : รวิพร สายแสนทอง / นิติยา ศรีวรเดชไพศาล
ที่มา: https://th.kku.ac.th/107712/