» คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัด Workshop หัวข้อ Recycling of Agriculture Biomass and Fodder Shrubs for Beef Cattle Production (ได้รับทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565) (467 Views)

    วันที่ 27 มีนาคม 2566 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรม (Workshop) ภายใต้หัวข้อ  Recycling of Agriculture Biomass and Fodder Shrubs for Beef Cattle หรือ โครงการการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ของชีวมวลการเกษตร และทรัพยากรอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราคา ออคิด โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติจากสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน  สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำจังหวัดขอนแก่น รองศาสตราจารย์ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ และนักวิจัยกว่า 80 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศ กัมพูชา จีน ลาว เวียดนาม และไทย ร่วมกิจกรรมในพิธีเปิดงานดังกล่าว 

    รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า พวกเราขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการมอบทุนของโครงการนี้ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ซึ่งเป็นวิจัยชั้นนำของโลกด้านสัตวศาสตร์ และโดยเฉพาะในฐานะ High-end Foreign Expert และได้รับรางวัล Yunnan Friendship Award จากรัฐบาลจีนในประจำปี 2563 ที่นำนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพจากประเทศกัมพูชา จีน ลาว เวียดนาม และไทย ร่วมแสดงพลัง และแบ่งปันแนวความคิดและประสบการณ์ภายใต้หัวข้อการใช้เศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องและลดการปล่อยก๊าซมีเทน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมทุกคนจะสามารถช่วยแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเพื่อผลประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการเชื่อว่า ทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะได้รับประโยชน์ ในการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อในประเทศของท่าน รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อน
 

    กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน กรอบความร่วมมือนี้เป็นข้อริเริมของไทยเมื่อปี 2555 ที่ประสงค์จะพัฒนากรอบความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยเน้นให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  และได้ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2558
     

    การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation Foreign Ministers’ Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และการประชุมสุดยอดแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation Leaders’ Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีกระทรวงต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก โดยแนวทางความร่วมมือของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครอบคลุม 3 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับ 3 เสาหลักอาเซียน ประกอบด้วย
   1. การเมืองและความมั่นคง
   2. เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
   3. สังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อเสริมศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ในประเทศสมาชิกด้วยเทคโนโลยี และ นวัตกรรมการให้อาหารโดยใช้เศษเหลือทางการเกษตรเป็นอาหารสัตว์  และเพื่อเพิ่มพูนทักษะและเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัยที่มีศักยภาพสูงด้วยระเบียบวิธีวิจัยใหม่เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการหมัก ลดการผลิตก๊าซมีเทน ตลอดจนประเมินคุณค่าทางโภชนะของอาหารสัตว์ ปริมาณและคุณภาพเนื้อวัว เพื่อให้ได้การผลิตโคเนื้ออย่างยั่งยืน และการจัดอบรม (Workshop) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราคา ออคิด โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งศาสตราจารย์เมธา วรรณพัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการและรับทุนสนับสนุนดังกล่าว จำนวนกว่า 311,300  ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,024,100 หยวน ระยะเวลาในการรับทุนจำนวน 3 ปี 

 

ข่าว/ภาพ: จริยา สงวนรัตน์ นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการ
ภาพ: กองสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 27 มีนาคม 66