» ทันตแพทย์ มข.ประกาศความสำเร็จ รักษาผู้ป่วยด้วย “นวัตกรรมการบูรณะกระดูก-ข้อต่อขากรรไกร” เคสแรกของไทยและภาคอีสาน (260 Views)

 

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยด้วยการบูรณะข้อต่อขากรรไกรทั้งสองด้านด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียมชนิดผลิตเฉพาะบุคคล (Customized-temporomandibular joint prosthesis for bilateral total TMJs reconstruction) และ การบูรณะกระดูกขากรรไกร ด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียม (Jaw in a day with fibula free flap reconstruction) ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในการนี้ รศ.ทพญ. เสาวลักษณ์ ลิ้มมณฑล  หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กล่าวรายงานว่า สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล มีหน้าที่หลักในการให้บริการวิชาการรวมไปถึงการรักษาทางทันตกรรมเฉพาะทาง การวินิจฉัยเพื่อแก้ไขความผิดปกติในบริเวณช่องปาก ซึ่งที่ผ่านมาทางสาขาวิชาได้มีการนำเทคโนโลยี 3 มิติมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยเพื่อลดระยะเวลาในห้องผ่าตัด จนประสบความสำเร็จเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยที่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้ทราบถึงความสามารถของทันตแพทย์ไทยด้านศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กับความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมการบูรณะกระดูกและข้อต่อขากรรไกร จึงจัดงานแถลงข่าวในวันนี้ขึ้น

ขณะที่ ผศ.ดร.ทพ.อชิรวุธ สุพรรณเภสัช คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมชื่นชมยินดีกับอีกก้าวสำคัญของคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ประสบความสำเร็จทั้งการผ่าตัดข้อต่อขากรรไกรเทียมเป็นเคสแรกของประเทศไทย และการผ่าตัด Jaw in a day เคสแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสองทันตแพทย์และทีมงานจากสาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคณะกับความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมการบูรณะกระดูกและข้อต่อขากรรไกร สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีพันธกิจหลักคือการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพนำไปสู่การบริการรักษาทางทันตกรรมขั้นสูงภายใต้มาตรฐานคุณภาพที่ดีที่สุดสู่สังคม ” 

.นพ.ทพ.นิพนธ์  คล้ายอ่อน สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยด้วยการบูรณะข้อต่อขากรรไกรทั้งสองด้านด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียมชนิดผลิตเฉพาะบุคคลว่า ผู้ป่วยได้รับการรักษาภายใต้โครงการวิจัยทางคลินิกหลังถูกตรวจพบว่ามีการละลายตัวของข้อต่อขากรรไกรทั้งสองข้างอย่างรุนแรงซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับโรคประจำตัว คือ กลุ่มโรคความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue disease) ส่งผลให้ข้อต่อขากรรไกรและเบ้ารับหัวข้อต่อขากรรไกรสลายไป และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งจากปัญหาสบฟันไม่ได้ ฟันหน้ากัดไม่ลง ไม่สามารถเคี้ยวอาหารหรือกัดอาหารโดยฟันหน้าได้ และไม่สามารถปิดปากได้

สำหรับแนวทางรักษาเพื่อการบูรณะด้วยข้อต่อขากรรไกรนั้น มีสองแนวทางหลักคือ การบูรณะด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียม (TMJ prosthesis) และการบูรณะด้วยเนื้อเยื่อจากตัวผู้ป่วยเอง (autogenous graft/flap) โดยการรักษาในครั้งนี้ ทีมทันตแพทย์ได้วางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อต่อขากรรไกรเทียมทั้งชุดทั้งส่วนข้อต่อขากรรไกรและส่วนเบ้ารับหัวข้อต่อขากรรไกรชนิดที่ผลิตเฉพาะบุคคล โดยเป็นการบูรณะพร้อมกันทั้งสองข้าง ซึ่งการรักษาวิธีนี้มีจุดเด่น คือ ผ่าตัดน้อยครั้ง ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บหลายที่ และไม่รบกวนเนื้อเยื่ออื่นบนร่างกาย รวมทั้งสามารถเริ่มต้นฝึกบริหารข้อต่อขากรรไกรและเริ่มใช้งานได้เร็ว

ชิ้นงานถูกสร้างจากแบบจำลองเทียบเคียงกับคนปกติที่มีขนาดใกล้เคียงกัน โดยใช้เทคโนโลยีการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูงโดยวิศวกรที่ปฏิบัติงานเฉพาะและเชี่ยวชาญการสร้างสิ่งเทียมที่ใช้ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งใช้วัสดุ Titanium alloy และ Ultra- High Molecular Weight Polyethylene ด้วยเครื่องมือทันสมัยในห้องปฏิบัติการของ CTEC ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ชิ้นงานมีขนาดสูงประมาณ 8 เซนติเมตร กว้าง 2.5 เซนติเมตร และหนา 0.5 เซนติเมตร ก่อนจะนำไปฝังและยึดตรึงกับขากรรไกรส่วนที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย

ภายหลังการผ่าตัดไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใด ขณะนี้อยู่ในช่วงติดตามการรักษา 5 เดือนหลังการผ่าตัด ภาพรวมพบว่าผู้ป่วยสามารถใช้งานข้อต่อขากรรไกรเทียมได้ใกล้เคียงกับปกติ สามารถรับประทานอาหารได้ คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นมาก

นับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการรักษาด้วยการบูรณะข้อต่อขากรรไกรพร้อมเบ้ารับข้อต่อขากรรไกรทั้งสองด้านพร้อมกัน ด้วยข้อต่อขากรรไกรเทียมชนิดผลิตเฉพาะบุคคลนี้ ทั้งยังเป็นผลงาน New Design ที่มีรูปร่างแตกต่างจากข้อต่อขากรรไกรเทียมอื่น โดยมีลักษณะการสวมเข้ากับเบ้ารับอย่างแข็งแรง ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับวงการทันตกรรมที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไปได้ เมื่อเจอกับสถานการณ์เดียวกันนี้ เพราะมีผู้คนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องการสูญเสียข้อต่อขากรรไกรทั้งจากการตัดเนื้องอก จากอุบัติเหตุ หรือการละลายดั่งเช่นผู้ป่วยรายนี้

สำหรับผู้ป่วยชาย วัย 57 ปี กล่าวหลังเข้ารับการรักษาจนหายว่า ก่อนหน้านี้มีปัญหาในการใช้ชีวิตมาก โดยเฉพาะอุปสรรคในการเคี้ยวอาหาร แต่หลังจากทีมทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการรักษาให้ก็เหมือนกลับมาเป็นคนปกติ ใช้ชีวิต เคี้ยวอาหารได้อร่อยเหมือนเดิมอีกครั้ง อยากขอบคุณทีมทันตแพทย์ทุกคนและขอฝากถึงผู้ป่วยคนอื่น ว่าหากมีอาการแบบเดียวกันนี้อย่ากังวลเพียงแค่มารักษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเชื่อว่าจะต้องหายเป็นปกติทุกคนแน่นอน

ส่วนการบูรณะกระดูกขากรรไกร ด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียมนั้น .นพ.ทพ.ธีรัตต์ เจิ่งประภากร สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (benign tumor) บนกระดูกขากรรไกรล่าง ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรล่างออกเป็นบริเวณกว้าง และต้องได้รับการบูรณะด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือด

อย่างไรก็ตาม การบูรณะกระดูกขากรรไกรด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือด เป็นวิธีการที่นิยมมากว่า 40 ปีแล้ว โดยกระดูกน่องที่บูรณะแล้วจะช่วยให้ทันตแพทย์สามารถทำฟันปลอมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวและใช้งานได้เหมือนปกติ แต่อย่างไรก็ดีการบูรณะฟันปลอมโดยอาศัยแรงยึดจากรากเทียมบนกระดูกน่อง จำเป็นต้องใช้เวลาและการผ่าตัดหลายครั้ง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรออย่างน้อย 12-18 เดือน ก่อนที่จะสามารถใส่ฟันปลอมได้

ทีมทันตแพทย์จึงตัดสินใจรักษาด้วยการบูรณะกระดูกขากรรไกรด้วยกระดูกน่องและการต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียมในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว ซึ่งทำได้โดยการผ่าตัดฝังรากเทียมลงบนกระดูกน่อง ที่นำมาใช้บูรณะในวันผ่าตัด ร่วมกับการวางแผนเพื่อใส่ฟันปลอม ในวันเดียวกัน เมื่อวางแผนผ่าตัดและการใส่ฟันปลอมด้วยรากเทียม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ได้ทำการผลิตเครื่องมือช่วยในการผ่าตัด และแผ่นเหล็กยึดกระดูกแบบเฉพาะผู้ป่วย (customized reconstruction plate) และทำการผ่าตัดตามที่วางแผนไว้

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี ..2556 แต่ในประเทศไทยเริ่มมีการผ่าตัดวิธีนี้ครั้งแรกเมื่อปี ..2565 โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเคสผู้ป่วยที่จะนำเสนอในครั้งนี้ นับเป็นเคสที่ 3 ของประเทศไทย และเคสแรกของภาคอีสาน ที่ทำการผ่าตัดและประสบความสำเร็จ

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตัวดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด กระดูกน่องที่ต่อเส้นเลือดที่บริเวณคอไม่พบภาวะตายจากการขาดเลือด รากเทียมที่ผ่าตัดฝังเพื่อยึดฟันปลอม สามารถใช้งานได้ดี ไม่พบภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถร่นระยะเวลาการรักษาจากเดิม ที่อาจต้องใช้การผ่าตัดมากกว่า 2 ครั้ง และกินช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 12-18 เดือน จึงจะสามารถมีฟันปลอมไว้ใช้งานหลังผ่าตัด เหลือเพียงการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว และใช้เวลาน้อยกว่า  1 เดือน ผู้ป่วยก็สามารถใช้งานฟันปลอมได้เหมือนปกติ 

ด้านผู้ป่วยหญิง วัย  54 ปี ระบุว่า ช่วงที่ทราบว่าป่วยเป็นมะเร็งบริเวณปากนั้น รู้สึกเหมือนชีวิตนี้หมดสิ้นแล้วทุกอย่าง แต่โชคดีที่ทีมทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้ามาช่วยผ่าตัดรักษาจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพราะความหวังสูงสุดไม่ใช่การมีรูปหน้าที่สวยงาม แต่เป็นการได้อยู่กับลูกหลานนานเท่าที่จะเป็นไปได้ขอบพระคุณทีมทันตแพทย์ทุกคนอีกครั้งค่ะ

 

ข่าว: ผานิต ฆาตนาค

Source: https://th.kku.ac.th/164927/


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 23 พฤศจิกายน 66