» แพทย์ มข.เปิด 4 โรคหน้าร้อนพบบ่อยที่ไม่ได้มีแค่ฮีตสโตรก แนะเช็กอาการ พร้อมวิธีป้องกัน (274 Views)

อากาศร้อนเดือนเมษายนแบบนี้ สิ่งที่มาพร้อมกับแดดและอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นคงหนีไม่พ้นโรคภัยใกล้ตัว ซึ่งหลายคนอาจจะนึกถึง “โรคลมแดด” หรือ “ฮีตสโตรก” ( Heatstroke ) แต่โรคหน้าร้อนที่ควรระวังไม่ได้มีเพียงเท่านี้ วันนี้ 24 เมษายน พ.ศ.2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะพาทุกคนมาเช็กสุขภาพ ป้องกันโรคหน้าร้อนกับ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงแพรว  โคตรุฉิน  อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

1.โรคเพลียแดด (heat exhaustion) รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงแพรว  อธิบายลักษณะของโรคว่า ร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลียจากการถูกความร้อน ส่งผลให้เกิดการระเหยของน้ำในร่างกายออกมาเป็นเหงื่อ สูญเสียเกลือแร่ จนทำให้ร่างกายมีความอ่อนแรง หากอยู่ในที่ร้อนต่อไป ก็อาจจะกลายเป็นฮีตสโตรกได้เช่นกัน ดังนั้น หากมีความรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ ใจสั่น หรือรู้สึกจะเป็นลม ควรรีบออกจากที่ร้อนหรือกลางแจ้ง เข้าไปที่ร่มที่อากาศระบายได้ แล้วดื่มน้ำ เพื่อป้องกันการพัฒนาไปเป็นฮิตสโตรก

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงแพรว  ระบุว่า สำหรับโรคเพลียแดดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ดังนั้น ใครที่ต้องทำงานกลางแจ้งก็ควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหนา แต่ควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และควรหลบเข้าที่ร่มเป็นระยะ ไม่ควรตากแดดอย่างต่อเนื่องจนมีอาการผิดปกติ ขณะที่ผู้สูงอายุ 60-70 ปีขึ้นไป ก็ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะมีอาการเป็นลมหรือความดันตกจากการเสียน้ำได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

2.โรคผิวไหม้จากแดด เป็นโรคที่เกิดจากภาวะความร้อน หลายครั้งเด็ก ๆ ที่ต้องทำกิจกรรมการแจ้ง ทั้งงานกีฬาสี หรือจัดเชียร์ เมื่อนั่งกลางแดดนาน ๆ ก็อาจจะทำให้แดดเผาผิวจนไหม้ได้ หากไม่ได้อันตรายมากนัก เผาเพียงผิวชั้นนอก เมื่อผ่านไปสักระยะผิวก็จะเริ่มแดง และลอกไปเอง สิ่งสำคัญคือการทาครีมกันแดดทั้งใบหน้า ลำคอ แขน ขา ระวังแสง UV เพราะโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกวัย

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงแพรว กล่าวถึงโรคต่อไป คือ 3.ท้องเสีย อุจจาระร่วง ซึ่งเป็นโรคที่หลายคนมักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่าเป็นโรคที่มาพร้อมหน้าร้อน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเพราะเด็กวัยเรียนปิดเทอม เมื่อไปเที่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ หรือไปเข้าค่ายซึ่งมีการรวมกันของคนหมู่มาก ทำให้มีโอกาสที่จะรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเพราะไปหยิบจับอาหารรับประทานโดยที่มือไม่ได้ล้าง และอาจจะติดเชื้ออหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งอาจจะติดมาจากอาหารทะเลดิบหรืออาหารที่มีแมลงวันตอม ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนควรรับประทานอาหารที่สุก สะอาด เลี่ยงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร

 “ต้องบอกว่าหลังโควิด-19 ทำให้หลายคนตระหนักถึงการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ และแอลกอฮอล์กันจนเป็นกิจวัตร ซึ่งจุดนี้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยอหิวาตกโรค หรือ โรคท้องเสีย ท้องร่วงลดลงได้ แต่ข้อควรระวัง คือ หากมีอาการท้องเสียแล้ว แนะนำให้ดื่มน้ำและเกลือแร่ให้เท่ากับหรือมากกว่าที่ร่างกายเสียน้ำไป เพราะในช่วงอากาศร้อนนอกจากเสียน้ำจากอาการท้องเสียแล้วก็จะเสียน้ำจากเหงื่อได้ด้วย และหากอาการท้องเสียเป็นแล้วไม่หายเองหรือไม่ดีขึ้น ประกอบกับมีไข้ แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ หากรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อเร็วก็จะหายได้เร็ว แต่หากรักษาช้าก็อาจมีอันตรายได้”

สุดท้ายโรคที่อาจไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดในฤดูร้อน คือ 4.โรคไข้เลือดออก เนื่องจากยุงลายจะแพร่พันธุ์ในช่วงที่มีอากาศอบอุ่น และกระจายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณยุงลายจะเพิ่มขึ้นมาก เมื่อประชาชนไม่ได้กังวลและป้องกัน ยุงกัดแล้วก็ไม่สนใจ ก็อาจจะส่งผลให้เป็นไข้เลือดออกได้

วิธีการสังเกตเกี่ยวกับอาการของโรคไข้เลือดออก คือ ในช่วง 1-2 วันแรกจะมีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวหรือปวดลึกถึงกระดูก หากผ่านไปราว 4-5 วัน จะอยู่ในระยะที่มีจุดเลือดออกตามตัว และเริ่มมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำลงได้ในบางราย ซึ่งถือว่าเป็นภาวะอันตรายแล้ว ดังนั้น หากในช่วงฤดูร้อนแล้วรู้สึกว่ามีไข้สูงผิดปกติ มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียมาก รับประทานยาลดไข้ด้วยตัวเองแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาตามอาการต่อไป พร้อมกับเน้นกำจัดยุงในช่วงฤดูร้อนควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้คนในบ้านทุกเพศทุกวัยปลอดภัยจากไข้เลือดออก

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงแพรว ทิ้งท้ายว่า ในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มีเพิ่มขึ้นทั้งจากอาการเพลียแดด ลมแดด ท้องเสีย หรือถ่ายเหลว แต่ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีโรคประจำตัวกลับมาโรงพยาบาลลดลงเนื่องจากอาการร้อน ไม่สะดวกออกจากบ้าน ในประเด็นนี้ฝากให้ระวังเป็นพิเศษ หากมีนัดแต่ไม่มาตามนัดผู้ป่วยหรือญาติต้องมั่นใจว่ายาประจำตัวมีเพียงพอสำหรับการนัดครั้งถัดไป และหากต้องการเลื่อนนัดก็ควรโทรศัพท์มาแจ้งเลื่อนในระบบ ซึ่งพยาบาลก็จะมีการสอบถามเพิ่มเติมถึงความไม่สะดวกต่าง ๆ

 “หากไม่สะดวกมารับยานั้น คนไข้และญาติสามารถสอบถามข้อมูลเข้ามาได้ เพราะโรงพยาบาลศรีนครินทร์เองก็มีบริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งสามารถส่งยาไปที่บ้านของคนไข้ที่เดินทางลำบากได้ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ข่าว: ผานิต ฆาตนาค
ที่มา: https://th.kku.ac.th/181840/  


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 3 พฤษภาคม 67