» ทีมนักวิจัย มข. ผลิตอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ(Sanitizer Tunnel) พร้อมส่งมอบโรงพยาบาลในจ.ขอนแก่น (5921 Views)

  สถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ทั้งด้านวิชาการและงานวิจัย ในสถานการณ์เช่นนี้อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ระดมสมองเพื่อช่วยสนับสนุนการลดอัตราการระบาดให้มีความเสี่ยงน้อยลง จึงได้ร่วมมือกันผลิตอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ (Sanitizer Tunnel) พร้อมส่งมอบโรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ กล่าวถึงการทดสอบในครั้งนี้ว่า การทดสอบในวันนี้ทำการทดสอบน้ำเปล่าในเบื้องต้น ยังไม่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้บริการที่เดินผ่านเข้าด้านในอุโมงค์จะต้องสวมหน้ากาก แล Face shield เพื่อป้องกันน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าตาและปาก ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้ออยู่ระหว่างการยืนยันว่าจะใช้น้ำยาตัวที่เหมาะสมที่ไม่ระคายเคือง และได้รับการรับรองจาก อย. การผลิตอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ใช้พ่นเชื้อที่อาจมีการปนเปื้อนมากับเสื้อผ้า หรือชุดที่สวมใส่ เพื่อช่วยลดการปนเปื่อน

รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการสำนักหอสมุด และหัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวถึงการทำงานของอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ (Sanitizer Tunnel) ว่าตัวพ่นน้ำยาที่ติดตั้งในอุโมงค์มีทั้ง 8 หัว หากเปิดเซนเซอร์ตลอดเวลา จะใช้น้ำเปล่า 80 ลิตร/ชั่วโมง แต่เนื่องจากเราทำเซนเซอร์ไว้ที่ 20 วินาที ดังนั้นถังน้ำขนาด 60 ลิตร จะสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน  ในส่วนของงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ เซนเซอร์ เพื่อพัฒนาต้นแบบนี้ได้รับจากฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ที่สนับสนุนด้านงบประมาณและพื้นที่ในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ในพื้นที่ KKU Maker Space ระยะเวลาในการผลิต อุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ (Sanitizer Tunnel) ระยะเวลาจัดทำประมาณ 1 สัปดาห์ ด้วยงบประมาณการจัดทำ 1 ชุด ประมาณ 7,000 บาท เบื้องต้นได้จัดทำต้นแบบไว้ 2 ชุด และจะทำเดินการผลิตทั้งสิ้น 15 ชุด

นายปิยะพงษ์ วงค์ขันแก้ว นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาสาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมออกแบบและผลิต ให้ข้อมูล เพิ่มเติมว่า อุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อชุดนี้พิเศษที่ อัลตราโซนิคเซนเซอร์ (Ultrasonic Sensors) เมื่อมีวัตถุเคลื่อนผ่านระบบจะตรวจพบจะสั่งการไปยังปั้มทำงาน และเรื่องของหัวฉีดพ่นน้ำยา เราเลือกใช้หัวฉีดเบอร์ที่เล็กที่สุดเมื่อทำการฉีดพ่นจะเป็นกระจายเป็นละอองฝอย โดยเซนเซอร์ตั้งเวลาการฉีดพ่นไว้ที่ 20 วินาที

เบื้องต้นนำร่องติดตั้งที่สำนักหอสมุด และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัย และความเชื่อมันของผู้ใช้บริการที่สำนักหอสมุด และบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป และนอกจากอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ สำนักหอสมุดยังได้มีการตรวจวัดอุหภูมิของบุคลากรที่จะเขามาปฏิบัติงาน และผู้ใช้บริการ

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ

ทีมนักวิจัยวิศวกรน้ำมอดินแดง (Water Engineering Group)

เมื่อผู้ใช้บริการเดินเข้า อุโมงค์จะทำงานพ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออัตโนมัติ

เซนเซอร์ตรวจวัดความร้อนเมื่อมีผู้ใช้บริการเดินผ่านเข้าอุโมงค์ เมื่อเซนเซอร์ทำงานหัวฉีดละอองน้ำยาฆ่าเชื่อภายในอุโมงค์จะทำงานอัตโนมัติ 20 วินาที

ระบบปั้มน้ำ

หัวฉีดพ่นละอองฝอย

ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) นี้ ทางสำนักหอสมุด และพื้นที่ KKU Maker Space เปิดพื้นที่ให้สำหรับทีมนักวิจัย ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับพัฒนาและผลิตชิ้นงานได้ที่ KKU Maker Space ชั้น 1 อาคาร 2 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว/ภาพ: นางสาวนิติยา ชุ่มอภัย

ที่มา: https://th.kku.ac.th/18897/


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 21 เมษายน 63