เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.00 น. สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีตัดช่อดอกกัญชา ช่อปฐมฤกษ์ โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวรายงานความเป็นมาของพิธีตัดช่อดอกกัญชา โดยมี นายวรทัศน์ ธุรีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รองศาสตราจารย์ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร หัวหน้าโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 ปลัดจังหวัดขอนแก่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ป้องกันจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร คณาจารย์ และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก ณ หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกัญชงเพื่อการนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ในมนุษย์และสัตว์ รวมไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ มีการวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สารสำคัญ รูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ได้รับหนังสือสำคัญผลิต (ปลูก) กัญชา (ตาม หนังสือสำคัญ ที่ 12/2563 (ปลูก)) ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่แรกในจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยฯ ซึ่งในการตัดช่อดอก: ช่อปฐมฤกษ์ ในครั้งนี้ เป็นการตัดช่อดอกจากพืชกัญชาที่ปลูกในรอบที่ 1 ซึ่งจะได้นำไปวิเคราะห์ทดสอบสายพันธุ์และสารต่างๆ ที่มีในกัญชาที่ปลูกในครั้งนี้ เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์และนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป เชื่อว่าการศึกษาวิจัยกัญชาและกัญชงของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้ จะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ มีการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาและกัญชง ให้กับวิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายที่ บังคับใช้ ตลอดจนเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชน ของจังหวัดขอนแก่นต่อไป”
“สำหรับต้นกัญชาที่ปลูกในชุดนี้เป็นชุดแรก มีประมาณ 35 ต้น ที่ปลูกระบบปิดในตู้คอนเทนเนอร์ ในพื้นที่ 10 ตารางเมตร หนึ่งปีปลูกได้ 3 ชุด รวมประมาณ 100 ต้น และในขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับอนุญาตให้ปลูกในชุดที่สองในระบบโรงเรือนพลาสติก ในพื้นที่ 2 ไร่ โดยได้คะแนนในการปลูกเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม 100 คะแนนเต็มจากองค์การอาหารและยา จึงจะขยายการปลูกได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถผลิตได้ชุดละ 500-700 ต้น ปลูกได้ปีละ 3 รอบ รวมปีละประมาณ 2,000 ต้น ก็จะเป็นการผลิตช่อดอกกัญชาที่สมบูรณ์มากเหมือนผลิตในเชิงอุตสาหกรรม และรองรับคนที่จะมาใช้ประโยชน์ได้
“มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้มองครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก่อนที่จะมีการใช้จริง นอกจากนี้เรายังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์รองรับและมีแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการใช้ยา ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็มีความตั้งใจดูแลคนป่วยในลักษณะของแพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าหากเราสามารถพัฒนากัญชาให้เป็นเรื่องของแพทย์แผนปัจจุบัน และให้แพทย์สมัยใหม่ได้เห็นความสำคัญของการใช้กัญชาเราในรูปแบบต่าง ๆ ก็จะทำให้มีการรักษาที่หลากหลายขึ้น และมีประสิทธิภาพมาก อนาคตอาจจะไม่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศ”
ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ทำหน้าที่ผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งดำเนินงานภายใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีหลายภาคส่วน หรือหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม เริ่มต้นจากการผลิตโดยคณะเกษตรศาสตร์ หลังจากที่เราผลิตเสร็จแล้วก็จะส่งต่อไปที่คณะวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้พื้นที่ ในการสกัดที่อุทยานวิทยาศาสตร์ จากนั้นเมื่อได้น้ำมันที่สกัดแล้ว ก็ส่งไปที่คณะเภสัชศาสตร์เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งผู้ที่มีส่วนนำไปใช้ประโยชน์จริง ๆ คือคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”
ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา กล่าวว่า “ในการจัดพิธีตัดช่อดอกกัญชา สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : ช่อปฐมฤกษ์ ครั้งนี้ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ซึ่งสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินงานวิจัยกัญชาแบบบูรณาการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่คณะเกษตรศาสตร์มีการศึกษาวิจัยด้านการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดสำคัญจากผลผลิตที่ได้จากกัญชา คณะเภสัชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากกัญชา และคณะสัตวแพทย์มีการศึกษาวิจัยด้านการนำวัสดุเศษเหลือจากการศึกษาวิจัยกัญชาด้านต่างๆ ไปพัฒนาเป็นอาหารสัตว์”
ข่าว/ภาพ: วัชรา น้อยชมพู
ที่มา: https://th.kku.ac.th/37835/
Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 9 พฤศจิกายน 63