» มข. ร่วม FAO เปิดตัวคู่มือทำฟาร์มจิ้งหรีด มาตรฐานความมั่นคงอาหารโลก (5011 Views)

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) แถลงข่าวหนังสือเรื่องคู่มือการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้แบบยั่งยืนและมีมาตรฐาน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์  โดยมีศาสตราจารย์ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าสาขาวิชากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา และที่ปรึกษา FAO เป็นผู้บรรยายพิเศษเรื่องการจัดทำคู่มือดังกล่าวให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกันทั่วโลก  โดยมีนักวิชาการ เกษตรกร และจากทุกทวีป ร่วมประชุมกว่า 120 คน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมา

จากการคาดการณ์ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มกว่า 9 พันล้านคน เพิ่มมากยิ่งขึ้น อาจประสบกับปัญหาภาวะประชากรขาดแคลนอาหาร แมลงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความนิยม เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกน้อย และใช้เวลาในการผลิตเร็ว ตอบโจทย์ด้านความมั่นคงด้านอาหาร มีคุณค่าทางอาหารทั้งแก่มนุษย์และสัตว์ ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการทั่วโลกจึงตื่นตัวทำฟาร์มแมลงเกิดขึ้น ธุรกิจแมลงเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้บริโภคต่างกังวลถึงความปลอดภัยขั้นตอนการผลิต รวมถึงความยั่งยืนของแหล่งทรัพยากรอาหาร
มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำงานร่วมกับ FAOมาอย่างยาวนาน เป็นที่ปรึกษาให้ FAO โดยเฉพาะเรื่องการผลิตแมลงกินได้ ที่ผ่านมาเคยผลิตหนังสือ ชื่อ ปศุสัตว์หกขา เรื่องแมลงกินได้ สำหรับอาหารคนและอาหารสัตว์  จนประสบผลสำเร็จ และหนังสือเล่มล่าสุดนี้   หนังสือเรื่องคู่มือการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืนและมีมาตรฐาน นับเป็นคู่มือการปฏิบัติของการทำฟาร์มจิ้งหรีดแบบยั่งยืนและมีมาตรฐาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และผู้ตรวจประเมินฟาร์มจิ้งหรีด  มีองค์ความรู้มากมายในหลากมิติ  สำหรับผู้ที่จะเปิดฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคแมลง

ศาสตราจารย์ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าสาขาวิชากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา และที่ปรึกษา FAO เผยว่า หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาประกอบด้วย หลักการที่ดี ข้อปฏิบัติ รวบรวมองค์ความรู้มาจากการทำฟาร์มในเมืองไทยกว่า 20 ปี  เรียกว่าวิจัยโดยฟาร์มของประเทศไทยเพราะเป็นศูนย์กลาง การจัดการฟาร์ม แมลงแห่งแรก ๆ ของโลกก็ว่าได้  เกษตรกรที่จะเริ่มต้นธุรกิจการทำฟาร์ม หรือทำอยู่แล้วจะปรับปรุงฟาร์มตัวเองอย่างไร  และส่วนที่สอง คือ สำหรับเจ้าหน้าที่ทั่วโลกที่จะมีแนวปฏิบัติในการตรวจประเมินฟาร์ม ให้เอาบทเรียนในคู่มือไปประยุกต์ใช้ในฟาร์มของประเทศตัวเอง หวังว่าคู่มือจะถูกเผยแพร่นำไปใช้ จากรัฐบาลและเอกชนของแต่ละประเทศต่อไป

 “นโยบายเกี่ยวกับแมลงเป็นอาหาร ต้องเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเราเป็นศูนย์กลางแรกเริ่ม มีองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดไปสู่ผู้ประกอบการ เราอยากผลักดันให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นจุดศูนย์กลางของประเทศ มากกว่าจะกระจายไปทั่วประเทศโดยไม่เกิดแรงผลักเท่าที่ควร เรายินดีเป็นผู้นำเพราะทำวิจัยเรื่องแมลงกินได้กว่า 20 ปี  มีบทบาทในระดับประเทศ  ระดับภูมิภาคเอเชีย  หากขับเคลื่อนสำเร็จไม่ได้ช่วยเฉพาะประเทศไทย แต่โลกกำลังรอคอยเรา”

ศาสตราจารย์ยุพา ยังกล่าวต่ออีกว่า งานวิจัยเกี่ยวกับแมลงในประเทศไทยเริ่มจากพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ประสงค์จะอนุรักษ์หิ่งห้อย  จึงพระราชทานให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำวิจัยเรื่องอนุรักษ์หิ่งห้อย ทั้งนี้จึงขยายใหญ่ขึ้นเป็นเรื่องของแมลงกินได้ พบว่าหากมีคิดเป็นอัตราส่วน มี แมลง 100 ชนิด จะมีเพียง 1 ชนิดที่เป็นภัย นอกนั้นจะพบประโยชน์จากแมลงอย่างมากมายมหาศาล

  “แมลงจิ้งหรีดอาหารปลอดภัยขยายขึ้นในเมืองไทยเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 หรือเรียกว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง คนยากจน ขาดแคลนอาหาร เป้ฯที่มาของการเพาะพันธุ์แหล่งโปรตีนจากแมลง ที่เลือกจิ้งหรีดพันธุ์ทองดำทองแดง เพราะ ไม่บินไกล  ใช้เวลาน้อย ลงทุนต่ำ ไม่เป็นภัยต่อเกษตรมาก ใช้เวลาเดือนครึ่งเอง เพื่อสร้างให้ทั่วโลกทีความมั่นคงด้านอาหาร (food scarcity)  ฟาร์มเยอะขึ้นเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น นิยมมากขึ้น ความปลอดภัยจะลดลงเพราะต้องเซฟต้นทุน จึงต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการผลิตแมลงของฟาร์มต่าง ๆ ( food safety )”

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศหลักในการส่งออกโปรตีนจากจิ้งหรีดแหล่งความมั่นคงด้านอาหารของโลก ในรูปแบบโปรตีนผง โปรตีนเม็ด จิ้งหรีดทอดกรอบ และพยายามสนับสนุนนักวิจัยด้านกีฏวิทยา ซึ่งมีอยู่น้อยมาก เพื่อค้นหาสรรพคุณการรักษาโรคด้วยสารชีวโมเลกุลจากไขมันจิ้งหรีด  โดยพบว่ามีคุณสมบัติรักษาโรคหัวใจ  ทั้งนี้ยังไม่มีนักวิชาการ ลงมือทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังมากนัก ภาครัฐควรส่งเสริมนักวิจัย องค์ความรู้ เพื่อสร้างขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางแมลงกินได้ของโลก องค์ความรู้เหล่านี้จะส่งต่อยังพลโลก หน้าที่สำคัญคือ ทำให้โลกมั่นใจว่า ประเทศไทยเรามีฐานผลิตที่ปลอดภัยและสามารถผลิตแมลงเพื่อสังคมโลกได้อย่างยั่งยืน

ข่าว / ภาพ จิราพร ประทุมชัย

ที่มา: https://th.kku.ac.th/42915/


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 21 ธันวาคม 63