» บทเรียนวิกฤตโควิด-19 ในอินเดีย มข.ร่วมประชุม กรณีศึกษาการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในรัฐหรยาณา (2101 Views)

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 15.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี ร่วมประชุมวิชาการนานาชาติผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง การจัดการภาวะวิกฤตโควิด-19 ประสบการณ์จากด่านหน้าของอินเดีย  กรณีศึกษา การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย การจัดประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานีวิทยุ Thai PBS และรัฐบาลรัฐหรยาณา โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย (ฝ่ายไทย)  Mr. Anil Vij, Health & Home Minister, Government of Haryana, India (ฝ่ายอินเดีย) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และดร.สุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวแนะนำที่มาของการประชุมในครั้งนี้  

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ระหว่างไทยกับอินเดีย จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ อย่างไรก็ตามการรับมือที่ดีต้องรับฟังประสบการณ์และเรียนรู้บทเรียนจากผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากรัฐหรยาณาซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ

Mr. Anil Vij, Health & Home Minister, Government of Haryana, India กล่าวว่า เราจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ณ รัฐหรยาณา กับประเทศไทย หน่วยงานทุกภาคส่วนของรัฐหรยาณา ได้ทุ่มเทและทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะช่วยรักษาชีวิตทุกคนในช่วงโรคระบาดนี้ กระผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในครั้งนี้ จะช่วยให้ท่านและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับประสบการณ์ พร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในอนาคต

อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในการประชุมว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 อย่างต่อเนื่อง การร่วมเสวนาครั้งนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทย พบสายพันธ์ุเดลต้าแพร่ระบาดตามจังหวัดต่างๆ รวมถึง จังหวัด ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยศูนย์กลางแห่งภาคอีสาน และมีจำนวนประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ ได้มีการจัดการการแพร่ระบาดนี้ โดยมี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และคณะอื่นๆ รวมถึงสถาบันทางการแพทย์ ทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ “Medical hub” ให้บริการความเป็นเลิศด้านการแพทย์ และมีชื่อเสียงในระดับประเทศและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศูนยการแพทย์ฉุกเฉิน ห้องปฏิบัติการทดลองการแพทย์ และมีความร่วมมือด้านการแพทย์อย่างเข้มแข็งทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยลดการติดเชื้อและสัมผัสผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย อีกด้วย และหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการแพทย์ วิจัย และอื่นๆ ในอนาคต

ภายในการประชุมวิชาการนานาชาติได้มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ  COVID in Haryana – Introductory Perspective โดย  Mr. Rajeev Arora, IAS Additional Chief Secretary to Government of Haryana, Health Department , Logistics Management in COVID crisis โดย Mr. Prabhjot Singh, Mission Director National Health Mission, Government of Haryana , HR, ICU Services and Post COVID Centers -Overcoming Challenges in Second wave โดย  Dr. Veena Singh, Director General Health Services, Government of Haryana และหัวข้ออื่นๆ โดย ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข จากอินเดีย


นอกจากนี้ รศ.นพ. ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ปัจจัยที่สำคัญในการควบคุมโรคระบาดโควิด 19 ในประเทศอินเดีย อาทิ การล็อคดาวน์ การสร้างภูมิคุ้มกัน การสำเร็จในการฉีดวัคซีน และการดูแลรักษาผู้ป่วย 

ด้านประเทศไทยยังร่วมเสวนาถึงประเด็นต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างความร่วมมือทางด้านการแพทย์ โดย ดร.นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแลกเปลี่ยนด้านการจัดการระบบสาธารณสุขในประเทศไทยอีกด้วย 

ข่าว: พราวแสง ภูสิงหา

ภาพ: กองการต่างประเทศ/ กองสื่อสารองค์กร 

รับชมย้อนหลัง: https://www.youtube.com/watch?v=kKr0fGSbV3I


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 19 สิงหาคม 64