เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดตัวโครงการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยผ่านประสบการณ์ในโลกเสมือน หรือ Metaverse experience ซึ่งดำเนินการโดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆในประเทศไทยที่ได้นำอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนรู้ผ่าน metaverse experience มาให้บริการในหอสมุด เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจอีกด้วย
Metaverse คือ โลกเสมือนจริงทางดิจิทัล ที่ในอนาคต เมื่อพัฒนาอย่างสมบูรณ์ขึ้นแล้ว คนจะสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กัน เสมือนว่ามีอีกหนึ่งตัวตนในโลกดิจิตัล มีการพยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตเมื่อ metaverse ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ คนจะใช้ชีวิตอยู่ในทั้งสองโลก อย่างมีความสำคัญพอๆกัน การเข้าถึงชีวิตใน metaverse หรือโลกเสมือนทางดิจิตัลนั้น สามารถทำได้ผ่านเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น Facebook, Google, Tencent, หรือ Microsoft ได้แข่งขันกันในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน virtual reality เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งาน ตลอดจนการสร้างโลกเสมือน และ ecosystem เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลก metaverse อย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้นี้
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ Learning center for All หรือศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับทุกคน ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี (technological disruption) ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคมในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการเข้าถึงโลกเสมือนทางดิจิตัลหรือ metaverse สำนักหอสมุดจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในโลกเสมือน หรือ metaverse experience ขึ้น โดยได้จัดหา VR Headset ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะนำผู้ใช้บริการเข้าสัมผัส กับ โลกเสมือน ได้ เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน โดยจะให้บริการการใช้งาน VR Headset สำหรับ นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนบุคคลทั่วไป ในเดือน ตุลาคม 2564 นี้ นับเป็นหอสมุดในสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกๆ ของประเทศไทยที่เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ และ จัดหาอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเปิดโอกาส แห่งการเข้าถึงเทคโนโลยี platform ใหม่ๆ ที่กำลังได้รับความสนใจว่าอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก และวิถีชีวิตของผู้คน ในอนาคตอันใกล้
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงนโยบายของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนการเรียนรู้ ผ่านการเข้าถึงประสบการณ์ในโลกเสมือนหรือ Metaverse experience ว่า “Metaverse เป็นสิ่งที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก CEO ของบริษัท Facebook ได้กล่าวถึงเมื่อเร็วๆนี้ว่า ในอนาคต Facebook จะเปลี่ยนไปเป็น Metaverse company ซึ่งผมคิดว่า เรารู้จักเรื่อง VR มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่พอถึงจุดที่มีเรื่องของ Metaverse เข้ามา เรื่องของ Metaverse จะเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วและถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งด้านการติดต่อสื่อสารโซเชียลมีเดียยุคใหม่ ที่สามารถเชื่อมทุกคนบนโลกนี้มาอยู่ในโลกเสมือนอันเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในเรื่องของความบันเทิง เรื่องของการเรียนการสอน การศึกษาได้อีกด้วย ผมคิดว่า metaverse และ VR คือเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้ และการที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักหอสมุดได้จัดหาและนำอุปกรณ์การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี VR เข้ามาเพื่อให้นักศึกษา หรือบุคลากรของเรารู้จัก ถือว่าเราเป็นผู้นำในรายแรกๆของประเทศเลยนะครับ และผมคิดว่าเทคโนโลยีนี้เมื่อมีจุดเริ่มต้น อาจารย์ นักศึกษา นักวิจัยของเรา น่าจะมีโอกาสในการพัฒนา และสามารถที่จะนำประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งอาจจะเป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านนวัตกรรม การเรียนการสอน เรื่องของ Entertainment หรือการพัฒนาให้เกิดช่องทางการติดต่อสื่อสารแห่งอนาคตได้ครับ”
รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “สำนักหอสมุดได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างโอกาส และส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต”
การดำเนินงานในโครงการ metaverse experience นี้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ จาก ผศ.ดร.วิชชา เฟื่องจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี VR จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้สามารถจัดหาอุปกรณ์ VR headset ที่ใช้งานได้ง่าย และ สามารถ upload educational apps ต่างๆ ที่ช่วยเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้ได้ เช่น app ที่ช่วยให้นักศึกษา สาขา วิทยาศาสตร์สุขภาพ เรียนรู้และเข้าใจกายวิภาคศาสตร์ ของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น จากประสบการณ์ในโลกเสมือนที่เปิดมุมมองให้เห็นโครงสร้างแบบ 3 มิติของร่างกายมนุษย์ เป็นต้น
ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อความทั่วถึงในการเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยนี้ สำนักหอสมุดจึงจะให้บริการ VR headset ทั้งที่หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ห้องสมุดสาขา ตามคณะต่างๆ อีก 13 แห่ง ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกด้วย”
ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมขอกราบขอบพระคุณท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่กรุณาสนับสนุนให้สำนักหอสมุดได้นำอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ออกให้บริการแก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการมอบโอกาสทางการเรียนรู้อย่างเสมอภาคให้กับทุกๆคนครับ และขอเชิญชวน นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้สนใจทั่วไป มาเปิดโลกแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ผ่านประสบการณ์ในโลกเสมือน หรือ metaverse experience ได้ที่ห้องสมุดทุกๆแห่ง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ครับ”
ข่าว: รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์, นางสาวนิติยา ศรีวรเดชไพศาล
ภาพ: นางสาวนิติยา ศรีวรเดชไพศาล, นางสาวอัคริมา สุ่มมาตย์
ที่มา: https://th.kku.ac.th/76103/
Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 29 กันยายน 64