เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงหลังยุคโควิด ในหัวข้อ “The Post-Pandemic of Mekong Development: How U.S. synergizes with Partners in the Sub-Region?” ผ่านระบบ Zoom ซึ่ง รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น Mr. Kevin McCown, Political Officer ตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา และ ผศ. อนุชา จินตกานนท์ รักษาการนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์จากภาครัฐและเอกชนกว่า 100 คน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
Mr. Kevin McCown, Political Officer ตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา
ผศ. อนุชา จินตกานนท์ รักษาการนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในพิธีเปิดว่า “แม่น้ำโขงเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อสำคัญ ไม่เพียงแต่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาโครงข่ายถนน ราง เรือ เพื่อเดินทางและขนส่งสินค้า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ทรัพยากรมหาศาล รอบลำโขง ดึงดูดประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนาทางกายภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนตามลุ่มแม่น้ำโขง”
“การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีประเทศภายนอก ลุ่มแม่น้ำโขงจำนวนมากเข้ามาตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อช่วยให้สมาชิกของประเทศลุ่มน้ำโขงใช้พัฒนาขีดความสามารถด้านทรัพยากรมนุษย์ เช่น การพัฒนาดิจิทัล การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าชายแดน การบริหารจัดการน้ำ การสร้างความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน”
“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้มิติการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงยิ่งซับซ้อนและท้าทายมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยในฐานะข้อต่อและประเทศสมาชิกที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำโขง การวางแผนจะเดินหน้าความร่วมมือไปทางไหน และจะมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนากรอบความร่วมมือมิติต่าง ๆ ในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงหลังยุคโควิด-19 ในอนาคต จะเป็นไปอย่างไร งานสัมมนาออนไลน์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงหลังยุคโควิดในวันนี้ จึงเป็นเวทีการเสวนาที่สำคัญเรื่องแนวคิดความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง อย่างเป็นรูปธรรม” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในที่สุด
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น
นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง
ภายหลังพิธีเปิดการสัมมนา ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการบรรยายประเด็นหลักของการสัมมนาครั้งนี้ จากนั้น มีการจัดการอภิปรายโต๊ะกลม โดยมีผู้ร่วมการอภิปรายประกอบด้วย ผศ.ตร. ร่มเย็น โกไศยกานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดร.วัชรัศมิ์ สีละวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัทโบลลิเกอร์แอนด์คอมพานี (ประเทศไทย) และอดีตผู้อำนวยการ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง รศ.ดร พูเพ็ด เกี๊ยวพิลาวง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ผศ.ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ รศ.ดร. ธีระวัฒน์ เจริญราษฎร์ อาจารย์ประจำคณะสหวิทยาการ และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี คุณวารินทร์ สัจเดว เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังการอภิปรายเป็นอย่างมาก ก่อนจะปิดการสัมมนาลงในเวลา 16.30 น.
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู
Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 12 มกราคม 65